ยธ.สหรัฐฟ้องGoogle?!? ละเมิดกม.ต่อต้านผูกขาด กูรูคาดอีกนานกว่าจบคดี ลงท้ายแค่ถูกปรับ

2009

ถึงคราวไฮเท็คยักษ์โดนในบ้านตัวเองซะบ้าง หลังจากมาป่วนโลกและประเทศไทย  รัฐบาลกลางสหรัฐฯ โดยกระทรวงยุติธรรมจับมือกับ 11 มลรัฐ ยื่นฟ้อง“กูเกิล” ซึ่งเป็นเสิร์จ เอ็นจิน (search engine) ยักษ์ใหญ่ของโลก ต่อศาลในข้อหาละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด การค้นหาทางออนไลน์ และการโฆษณาทางออนไลน์ กลายเป็นคดีต่อต้านการผูกขาดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และอาจส่งผลทำให้บริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่แห่งนี้ต้องแตกกิจการ ขณะเดินหน้าตรวจสอบเฟซบุ๊ก อะเมซอน แอปเปิ้ลด้วย

นักวิเคราะห์ฟันธงยืดเยื้อยากชนะและหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ ก็อาจคลี่คลาย หลายฝ่ายมองว่าเป็นคดีการเมืองของทรัมป์มากกว่ายึดประโยชน์ผู้บริโภคจริง เพราะคำฟ้องและข้อเสนอต่อศาลกว้างจนยากพิสูจน์และต้องใช้เวลานาน อดีตโดนปรับทั้งสหรัฐและอียูหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐแต่ไม้สะเทือน

การเมืองหรือผลประโยชน์คนอเมริกัน

หลายฝ่ายมองว่าคดีนี้มีความพัวพันเกี่ยวข้องกับการเมือง อาจใช้เวลาพิจารณาไต่สวนกันนานหลายปี แต่ก็เป็นการเปิดแนวรบใหม่ระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับเหล่าบริษัทเทคยักษ์ภายในประเทศเอง หลังจากที่บีบบริษีทเทคยักษ์ของจีน ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างมากต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยี

เจฟฟรีย์ โรเซน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงยุติธรรม แถลงเมื่อวันอังคารที่20 ต.ค.2563 ว่า คดีนี้ที่ทางกระทรวงฟ้องร้องร่วมกับอัยการสูงสุดจาก 11 รัฐที่บริหารโดยพรรครีพับลิกัน มีเป้าหมายที่ทำลายการครอบงำระบบนิเวศออนไลน์ของกูเกิล เอกสารคำฟ้องระบุว่า กูเกิลผูกขาดธุรกิจด้วยข้อตกลงพิเศษ ซึ่งรวมถึงข้อตกลงระยะยาวที่อุปกรณ์ของบริษัทต่างๆ จะต้องโหลดแอปกูเกิล เสิร์ชล่วงหน้า และไม่สามารถลบบางแอปของกูเกิลออก

บิลล์ บาร์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่สอบสวนพบว่า กูเกิลไม่ได้แข่งขันด้วยคุณภาพ แต่จ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์ให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่างแอปเปิล และซัมซุง รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อให้ติดตั้งเสิร์ชเอนจินของบริษัทเป็นค่าเริ่มต้นบนอุปกรณ์ จึงเท่ากับเป็นการส่งเสริมสถานะการผูกขาดของตนเอง ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง และขัดขวางการพัฒนานวัตกรรม

คำฟ้องที่ยื่นต่อศาลชั้นต้นของสหรัฐฯในกรุงวอชิงตันยังอ้างว่า การกระทำของกูเกิลเป็นการกีดกันคู่แข่ง และเสนอวิธีแก้ไขหลายประการให้ศาลพิจารณา และขอให้ศาลบังคับให้กูเกิลยุติการดำเนินการที่ต่อต้านการแข่งขัน รวมทั้งพิจารณาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริษัทแห่งนี้ ซึ่งอาจหมายถึงการแตกกิจการ

เคนต์ วอลเกอร์ ที่ปรึกษาใหญ่ของกูเกิล ตอบโต้ว่า การฟ้องร้องนี้เป็นการดำเนินการที่ผิดพลาดโดยสิ้นเชิง และยืนยันว่า ผู้บริโภคเลือกที่จะใช้กูเกิลเอง ไม่ได้ถูกบังคับและไม่ใช่เพราะไม่มีตัวเลือก วอลเกอร์เสริมว่า การฟ้องร้องนี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อผู้บริโภค แต่เป็นการอุ้มตัวเลือกการค้นหาออนไลน์คุณภาพต่ำ กระตุ้นให้ค่าโทรศัพท์แพงขึ้น และสร้างปัญหาสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการใช้บริการค้นหาออนไลน์

การฟ้องร้องนี้มีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ และหน่วยงานป้องกันการผูกขาดของรัฐต่างๆ พยายามตรวจสอบอิทธิพลของกูเกิล และยังเกิดขึ้นพร้อมกับการสอบสวนบริษัทไฮเทคชั้นนำอื่นๆ เช่น แอมะซอน เฟซบุ๊ก และแอปเปิล

นับเป็นเรื่องหาได้ยาก ที่พวกนักการเมืองอเมริกันคนละขั้วกลับมีความเห็นพ้องกันในการเล่นงานกูเกิลและบริษัทเทครายยักษ์อื่นๆ โดยพวกนักการเมืองหัวก้าวหน้าของพรรคเดโมแครตกล่าวหาว่า บริษัทเหล่านี้กีดกันการแข่งขัน และทำให้ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจเลวร้ายลง โดยที่รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ ของสภาผู้แทนราษฎรบ่งชี้ว่า ควรแตกกิจการกูเกิลและบริษัทอื่นๆ เพื่อปกป้องการแข่งขัน ขณะเดียวกันนักการเมืองสายอนุรักษนิยม โดยเฉพาะของรีพับลิกัน ก็กล่าวหาโดยไม่แสดงหลักฐานว่า บริษัทเหล่านี้มีอคติทางการเมือง

กูเกิล ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของอัลฟาเบต อิงก์ๅ(Alphabet Inc.) ที่มีมูลค่าทางตลาดสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดำเนินการเสิร์ชเอนจินที่คนส่วนใหญ่ทั่วโลกใช้ รวมถึงบริการที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เช่น แผนที่ อีเมล โฆษณา และช้อปปิ้ง อีกทั้งยังเป็นผู้ดำเนินการ “แอนดรอยด์” ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ติดตั้งอยู่ในสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ทั่วโลก

กูเกิลครองสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ของการค้นหาในโลกออนไลน์ “ใช้ยุทธวิธีต่อต้านการแข่งขัน เพื่อดำรงสถานะและขยายการผูกขาด ด้านการค้นข้อมูลออนไลน์ และการโฆษณาบนแพลตฟอร์มของการค้นหาข้อมูล”…”สร้างวงจรผูกขาดอย่างต่อเนื่องและเป็นผลประโยชน์ต่อตนเอง” กูเกิลเพิ่งถูกสหภาพยุโรป (อียู) สั่งปรับหลายพันล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ด้วยความผิดฐานมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และกำลังอุทธรณ์คดีเหล่านั้นโดยยืนยันว่า บริษัทไม่ได้ละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด

อิริก โกลด์แมน ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายไฮเทคของมหาวิทยาลัยซานตาคลารา แสดงความเห็นว่า การฟ้องร้องของรัฐบาลอเมริกาถือเป็นมาตรฐานที่ดี แต่ดูเหมือนมีแรงจูงใจจากการเป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองของคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อบริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ และอาจจบลงด้วยการที่อุตสาหกรรมนี้เติบโตก้าวหน้าเร็วกว่ากระบวนการฟ้องร้อง คดีนี้ถือเป็นคดีใหญ่ที่สุดนับจากการฟ้องร้องไมโครซอฟท์ในปี 1998 และอาจเป็นบททดสอบการฟ้องร้องกรณีการผูกขาดตลาด หากต้องการเป็นฝ่ายชนะ รัฐบาลจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมการผูกขาด

ชาร์ล็อตต์ สไลแมน จากกลุ่มผู้บริโภค พับลิก โนว์เลดจ์ ระบุว่า การฟ้องร้องนี้เป็นก้าวสำคัญก้าวแรกที่จะนำไปสู่นวัตกรรมเสิร์ชเอนจินที่มีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีขึ้นและแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมแต่ กูเกิลอาจโต้แย้งว่า ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากบริการฟรีของบริษัท แม้คู่แข่งบางรายอาจเสียเปรียบก็ตาม

แมตต์ ชรูเออร์ส จากสมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และการสื่อสารที่กูเกิลเป็นสมาชิก กล่าวว่า ดูเหมือนการฟ้องร้องที่เร่งรีบนี้ต้องการสร้างภาพว่า คณะบริหารกดดันอย่างแข็งกร้าวต่อบริษัทไฮเทคก่อนการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน

เอเวอรี การ์ดิเนอร์ อดีตทนายความที่บังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดและวิจัยเกี่ยวกับการแข่งขันทางธุรกิจให้กับศูนย์เพื่อประชาธิปไตยและเทคโนโลยี ชี้ว่า รัฐบาลเจอศึกหนักในการพิสูจน์ว่า กูเกิลทำร้ายผู้บริโภค และทิ้งท้ายว่า การฟ้องร้องนี้มองข้ามประเด็นราคา แต่โฟกัสที่คุณภาพและนวัตกรรมเท่านั้น

สุดท้ายแค่ปรับก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง-ต้องลุ้นไปอีกเป็นปี

ปี 2019 -กูเกิลได้ยุติข้อพิพาทกับรัฐบาลสหรัฐ ฯ ในปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิเยาวชนบนแพลตฟอร์ม YouTubeควักเงินกว่า 6,000 ล้านบาทก็ไม่ระคาย ไม่ใช่แค่กูเกิล ทั้งเฟซบุ๊ก

ข้อพิพาทนี้เกิดขึ้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2015 Google ถูกคณะกรรมาธิการการค้าแห่งชาติของสหรัฐ ฯ (Federal Trade Commission | FTC) ตั้งเรื่องสอบสวนอย่างเป็นทางการ ในกรณีการให้บริการในรูปแบบต่าง ๆ ของ Google ที่ส่อแววละเมิดสิทธิของผู้บริโภค และรวมไปถึงประเด็นเรื่องการผูกขาดทางการค้าอีกด้วย โดยกรณีผูกขาดทางการค้าภายใต้กฎหมาย Anti-Trust นั้น เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก ที่บ้านเรามีคณะกรรมการการค้า (กขค.) ก็ยังไม่มีผลงานอะไรโดดเด่นที่พอจะปกป้องผลประโยชน์คนไทยได้จริงจัง โดยเฉพาะกับธุรกิจรายใหญ่ทั้งหลาย