บีทีเอสได้เฮ!?! ศาลสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน ให้รฟม.ประมูลสายสีส้มตามเกณฑ์เดิม คาด รฟม.ยื่นอุทธรณ์

1333

ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินชั่วคราว บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) โครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม จี้ให้ รฟม.กลับไปใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาเดิม จนกว่าจะมีคำตัดสินจากศาลออกมา ด้าน รฟม.นัดประชุมบอร์ดวันนี้ เตรียมยื่นอุทธรณ์ใน 30 วัน

วันที่ 20 ตุลาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่สำนักงานศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางนัดไต่สวน คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่างบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ในฐานะผู้ฟ้องคดีกับ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกคือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวม 2 คน เป็นผู้ถูกฟ้อง

ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน และวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ส่วนตะวันตก การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

เป็นเหตุให้ BTSC ซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 มีรายงานข่าวแจ้งว่า ศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) โดยให้ รฟม. กลับไปใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาเดิม คือ เปิดซองคุณสมบัติ ซองเทคนิค ซองข้อเสนอการเงินและซองข้อเสนออื่นๆเพิ่มเติม จนกว่าจะมีคำตัดสินจากศาลออกมา

จากปัจจุบัน รฟม.ใช้เกณฑ์ใหม่ เปิดซองคุณสมบัติจากนั้นเปิดซองเทคนิคควบคู่ไปกับซองข้อเสนอการเงินโดยนำคะแนนเทคนิค 30% มาพิจารณาร่วมกับข้อเสนอการเงินอีก 70%

ศาลปกครองกลาง ว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ (BTSC) ในฐานะผู้ฟ้องคดี กับ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวก คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวม 2 คน เป็นผู้ถูกฟ้อง

โดยศาลฯได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว BTSC โดยให้ รฟม.กลับไปใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาเดิมคือ เปิดซองคุณสมบัติ ซองเทคนิค ซองข้อเสนอการเงินและซองข้อเสนออื่นๆ เพิ่มเติมจนกว่าจะมีคำตัดสินจากศาลออกมาซึ่งทาง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 สามารถยื่นอุทธรณ์คัดค้านได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่มีคำสั่ง

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทBTSC กล่าวว่า จากการที่ทาง ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ รฟม.ใช้เกณฑ์เดิมในการประเมินการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้นในระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำตัดสินเนื่องจากต้องใช้เวลาพิจารณา คงขึ้นอยู่กับ รฟม.จะดำเนินการประมูลอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้รฟม.ต้องใช้เกณฑ์ที่มีการแยกการประเมินข้อเสนอด้านการเงินและด้านเทคนิคออกจากกัน เพื่อให้คะแนน และพิจารณาผู้ชนะตามราคาที่เสนอตามที่ประกาศไว้เดิม ไม่ใช้ประกาศใหม่

สำหรับการยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และรฟม. สืบเนื่องจาก คณะกรรมการฯและรฟม.มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขร่างเอกสารการประมูล (TOR) โครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงนำข้อเสนอทางด้านเทคนิคมาให้คะแนนควบคู่กับข้อเสนอราคา โดยให้นำคะแนนเทคนิค 30% มาพิจารณาร่วมกับข้อเสนอการเงินอีก 70%

สำหรับโครงการนี้มีกำหนดยื่นซองข้อเสนอในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 นี้ มีเอกชนให้ความสนใจติดต่อขอซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯจำนวนทั้งสิ้น 10 ราย ดังนี้ 1. บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ 2. บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือBTSC 3. บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ 4. บมจ.ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 5. บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์6. บมจ. ราช กรุ๊ป 7. บมจ. ช.การช่าง8. บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์9. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด และ 10. บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์จำกัด