Truthforyou

ธปท.ยืดพักชำระหนี้ถึงสิ้นปี!?! 94%ได้รับการช่วยเหลือ 6%ติดตาม ขณะปรับเกณฑ์ช่วยแบบตรงเป้า ตรึงหนี้เสียไม่ให้ลาม

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงเรื่องร้อนที่อยู่ในสายตาสาธารณชนว่า มาตรการผ่อนผันให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับการพักหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ที่จะครบกำหนด 6 เดือนในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 มีความคืบหน้าหลายด้าน โดยตั้งเป้าแก้ปัญหาตรงกลุ่มเป้าหมายไม่เหวี่ยงแห และปลดล็อกกันหนี้เสีย(NPL) ลามระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ใครสามารถจ่ายได้จ่าย ใครยังจ่ายไม่ได้ต่อให้อีก 6 เดือนพิจารณาเป็นรายไปตามสภาพความเป็นจริง

 

กำหนดเกณฑ์แก้ป้ญหาหนี้เฟสใหม่

นางรุ่ง เปิดเผยความคืนหน้าในการดำเนินการของธปท.ดังต่อไปนี้คตือ 

  1. ก่อนหน้านี้มีลูกหนี้ทั้งหมดของระบบสถาบันการเงินที่ขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการผ่อนผันการพักชำระหนี้ดังกล่าว คิดเป็น 6.89 ล้านล้านบาท จำนวน 1.05 ล้านบัญชี คิดเป็นเงินที่อยู่ในมาตรการพักหนี้ของลูกหนี้เอสเอ็มอี ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้แบ่งเป็น -หนี้ในระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จำนวน 4 แสนล้านบาท คิดเป็นลูกหนี้ 7.8 แสนบัญชี และ -หนี้ในระบบธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ จำนวน 9.5 แสนล้านบาท คิดเป็นลูกหนี้ 2.7 แสนบัญชี

โดยในส่วนนี้มีลูกหนี้ประมาณ 94% ที่ทั้งสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการช่วยเหลือ และสถาบันการเงินสามารถติดต่อเพื่อดำเนินการช่วยเหลือด้วยวิธีต่าง ๆ ต่ออีก แต่อีก 6% ของยอดหนี้ หรือประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างการติดต่อลูกหนี้ เพราะยังติดต่อไม่ได้ โทรศัพท์ไม่รับ จึงยังไม่รู้ว่าจะดำเนินการช่วยเหลืออย่างไรกับลูกหนี้ในส่วนนี้หลังจากหมดอายุมาตรการช่วยเหลือ

  1. ธปท. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และคาดว่าจะไม่เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว (cliff effect) หลังมาตรการพักหนี้ครบกำหนด เนื่องจาก 

1) ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้ามาตรการวงเงินประมาณ 4 แสนล้านบาท ได้รับการขยายระยะเวลาการพักหนี้ไปอีก 3 – 6 เดือนแล้ว ส่วนลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) อีกประมาณ 9.5 แสนล้านบาท ธพ. ได้ติดตามดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินสถานะและให้ความช่วยเหลือ พบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่แสดงเจตจำนงว่าจะสามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการ 

2) สำหรับลูกหนี้ของ ธพ. ที่ยังไม่สามารถกลับมาจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติหรืออาจจ่ายได้บางส่วน ธพ. ยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากพอที่จะชำระหนี้ได้ โดยมีหลายมาตรการมารองรับ ได้แก่ การปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายเพื่อไม่ให้กลายเป็น NPL รวมถึงใช้มาตรการอื่นตามความเหมาะสม เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การพักชำระค่างวด รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation) และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย (multi-creditors) เป็นต้น

3) มีลูกหนี้เพียง 6% ของยอดสินเชื่อที่ได้รับการพักหนี้ที่ยังอยู่ระหว่างการติดต่อของ ธพ. หรือยังติดต่อไม่ได้

จัดกลุ่มช่วยเหลือตามสภาพความเป็นจริง(Targeting Management)

หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ การฟื้นตัวของธุรกิจในแต่ละสาขาไม่เท่ากัน เช่น ธุรกิจเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และการค้า ฟื้นตัวกลับเข้าใกล้ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด 19 แล้ว ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังพื้นตัวช้า โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่การฟื้นตัวยังอยู่เพียง 26% ของช่วงก่อนโควิด 19

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ธปท. จึงปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากการให้สถาบันการเงินช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เป็นการให้ความช่วยเหลือเชิงรุกและตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย (Targeted) โดยหากยังคงดำเนินมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไปต่อไปอาจส่งผลกระทบทางลบในระยะยาวได้เนื่องจาก1) ลูกหนี้ที่พักหนี้อยู่จะยังคงมีภาระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนตลอดช่วงการพักหนี้ ซึ่งเป็นภาระแก่ลูกหนี้ในระยะยาว 2) ไม่ส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการเงิน (moral hazard) เพราะลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบไม่มาก อาจอาศัยเป็นช่องทางเพื่อประวิงเวลาการชำระหนี้ 3) ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินเพราะการพักหนี้เป็นการทั่วไปเป็นระยะเวลานานคาดว่าจะทำให้สภาพคล่องในระบบจากการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยหายไปประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี

ดังนั้น กลุ่มลูกหนี้ที่ยังมีรายได้เพียงพอที่จะชำระคืนหนี้ควรชำระหนี้ตามปกติหลังหมดมาตรการ เพราะนอกจากจะช่วยลดภาระหนี้แล้ว ยังจะทำให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ ส่วนลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยเฉพาะรายที่สถาบันการเงินยังติดต่อไม่ได้ ควรรีบติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อรับความช่วยเหลือที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ธปท. ได้ออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานการณ์จัดชั้นลูกหนี้ถึงสิ้นปี 2563 (stand still) สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็น NPL ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งดำเนินการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ นอกจากนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้ทราบว่ามีภาคธุรกิจไหนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

สำหรับมาตรการรองรับสำหรับลูกหนี้แต่ละประเภท หลังหมดมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไป ได้แก่ 

  1. ลูกหนี้ที่กับมาดำเนินธุรกิจตามปกติ สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการ 
  2. ลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินธุรกิจแต่ยังไม่ฟื้นตัว ในส่วนนี้สถาบันการเงินจะดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ โดยสามารถคงสถานะลูกหนี้ที่ไม่เป็น NPL ระหว่างการเจรจาจนถึงสิ้นปี 2563 และ 
  3. ลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ในส่วนนี้สถาบันการเงินจะพิจารณาขยายระยะเวลาชะลอการชำระหนี้เป็นรายกรณีได้อีกไม่เกิน 6 เดือน นับจากสิ้นปีนี้ 
  4. ลูกหนี้ที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงิน ให้ติดต่อสถาบันการเงินเพื่อหาแนวทางร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดเป็น NPL

อย่างไรก็ดี แนวโน้ม NPL ในระบบในระยะต่อไปยังไม่มีความน่ากังวลใจ เพราะไม่ได้มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วง แต่ ธปท. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และไม่ได้ปฏิเสธปัญหา โดยในส่วนที่ต้องแก้ก็ต้องดำเนินการแก้กันไป

Exit mobile version