Truthforyou

ทักษิณรอดยาก ศปปส.-คปท.จัดหนัก ยื่นค้านประกันตัว 112 ย้อนรอย โกหกศาล-หนีคดีออกนอกปท.

จากกรณีที่อัยการสูงสุด นัดฟังคำสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตาม ป.อาญามาตรา 112 จากเหตุให้สัมภาษณ์กับสื่อของเกาหลีใต้ ในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้

หลังเลื่อนมาจากเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ กระทั่ง นายทักษิณส่งให้ทนายผู้รับมอบอำนาจยื่นหนังสือเพื่อขอเลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้อง เนื่องจากติดโควิด-19

อัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาสำนวนและมีคำสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยว กับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14(3) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8

พนักงานอัยการไม่สามารถยื่นฟ้อง พันตำรวจโทหรือนายทักษิณ ชินวัตร ต่อศาลได้ เนื่องจาก พันตำรวจโทหรือนายทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้มาพบพนักงานอัยการตามกำหนดนัด โดยได้มอบอำนาจให้ทนายความมายื่นขอเลื่อนการฟังคำสั่งของพนักงานอัยการ ออกไปเป็นวันที่ 25 มิถุนยายน 2567 เวลา 09.00 น. พร้อมแนบใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าป่วย เนื่องจากติดโควิด โดยแพทย์ให้หยุดพักงานและสังเกตอาการเป็นเวลา 7 วัน ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2567

ซึ่งนายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้เป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุขอเลื่อนคดีมีการอ้างการป่วยเพราะติดโควิด โดยหมอให้พักเพื่อสังเกตอาการ ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2567 จึงอนุญาตให้เลื่อนไปวันที่ 18 มิถุนายน 2567 เพื่อนัดให้พันตำรวจโทหรือนายทักษิณ ชินวัตร มาพบพนักงานอัยการ เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลในวันดังกล่าวต่อไป

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (29 พฤษภาคม 2567) นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธาน ศปปส. ได้โพสต์ข้อความบอกว่า วันที่18มิย.เตรียมยื่นหนังสือค้ดค้านการประกันตัวกันเถอะ เพราะมีพฤติกรรมเคยหลบหนี

ในขณะที่ทางด้าน นายพิชิต ชัยมงคล แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “นิติศาสตร์ – รัฐศาสตร์” ระบุว่า ที่ผ่านมา ทักษิณ ชินวัตร ถึงแม้จะถูกตัดสินด้วยระบบนิติศาสตร์ แต่กลับถูกปฏิบัติด้วยหลักรัฐศาสตร์เสมอมา

การไม่ติดคุกซักวันเดียวคือการเลือกใช้หลักรัฐศาสตร์มาปฏิบัติกับทักษิณ ชินวัตร แต่ถ้าเป็นประชาชนทั่วไป กลับถูกบังคับใช้หลักนิติศาสตร์อย่างเคร่งครัด

วันนี้ อัยการ สั่งฟ้องทักษิณ ชินวัตร ถ้ายึดหลักนิติศาสตร์ อัยการต้องคัดค้านการประกันตัวของ ทักษิณ ชินวัตร ด้วย เหตุเพราะ

1.ผู้ต้องหาเคยมีประวัติในการหลบหนีคดีออกนอกประเทศ

2.ผู้ต้องหามีอิทธิพล อาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวพยานหลักฐาน จนอาจส่งผลต่อรูปคดี

ทักษิณ ชินวัตร ถูกปฏิบัติด้วยหลักรัฐศาสตร์มาตลอด ถึงเวลาต้องใช้หลักนิติศาสตร์บังคับใช้กับผู้ต้องขังคนนี้เสียที อย่าให้กฎหมายบังคับได้เฉพาะคนจน

#ทักษิณต้องติดคุก

ทั้งนี้ เราจะมาย้อนความหลัง เรื่องของการที่นายทักษิณ เคยมีพฤติกรรมหลบหนี นายทักษิณ ชินวัตร หลบหนีคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษกตั้งแต่ปี 2551โดยทำหนังสือขออนุญาตศาลฎีกาฯ เดินทางไปปฏิบัติภารกิจประเทศจีนและญี่ปุ่น และไม่กลับมาอีกเลย

เมื่อนายทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ก็ก้มลงกราบแผ่นดิน จากนั้นได้เข้ามอบตัวที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีตกเป็นจำเลยในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ร่วมกับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ซึ่งศาลอนุมัติให้ประกันตัว

ระหว่างนั้นทั้ง 2 คน ได้ขออนุญาตศาลฎีกาฯ เดินทางออกนอกประเทศ โดยให้เหตุผลเดินทางไปปฏิบัติภารกิจประเทศจีนและญี่ปุ่น โดยระบุวันเดินทางระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 10 สิงหาคม 2551 ในรายละเอียดคุณหญิงพจมาน ให้เหตุผลขอเดินทางไปร่วมพิธีเปิดงานกีฬาโอลิมปิก ที่ประเทศจีน ระหว่างในวันที่ 5-10 สิงหาคม 2551

และเมื่อถึงวันนัดให้ไปรายงานตัวต่อศาลวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ทั้งสองคน ไม่มารายงานตัวต่อศาล แต่ไปปรากฎตัวที่ประเทศลอนดอนพร้อมครอบครัว วันที่ 21 ตุลาคม 2551 ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาลับหลัง ตัดสินให้จำคุกนายทักษิณ 2 ปี ส่วนคุณหญิงพจมาน ยกฟ้อง ตั้งแต่วันนั้น นายทักษิณ ก็ไม่กลับมาอีกเลย

ซึ่งอันนี้เราจะเห็นได้ชัดว่า พฤติกรรมของนายทักษิณในอดีต มีพฤติกรรมแบบนี้ แล้วถ้าวันที่ 18 มิถุนายน ที่อัยการจะพานายทักษิณไปยื่นฟ้องต่อศาล แล้วหากได้ประกันตัว มันก็น่าคิดว่า จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีกหรือไม่

Exit mobile version